ภูมิปัญญาท้องถิ่น
อบต.หนองแขม

ภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือ ภูมิปัญญาชาวบ้าน หมายถึง ทุกสิ่งทุกอย่างที่ชาวบ้านคิดขึ้นได้เอง และนำมาใช้ในการดำรงชีวิตประจำวัน ใช้แก้ปัญหา เป็นเทคนิควิธีเป็นองค์ความรู้ของชาวบ้านที่คิดเอง ทำเอง โดยอาศัยศักยภาพที่มีอยู่แก้ปัญหาการดำเนินชีวิตในท้องถิ่นได้อย่างเหมาะสม ซึ่งได้สั่งสม สืบทอดและเชื่อมโยงมาอย่างต่อเนื่องตั้งแต่อดีตถึงปัจจุบัน
การแบ่งประเภทภูมิปัญญาท้องถิ่นมีมากมายหลายแขนง ขึ้นอยู่กับบริบทของสังคมและชุมชน หรือ แตกต่างกัน ขึ้นอยู่กับวัตถุประสงค์ สำหรับ อบต.หนองแขม มีภูมิปัญญาท้องถิ่น หรือ ภูมิปัญญาชาวบ้าน ที่ปรากฎ ดังนี้

ไร่ทนเหนื่อย
เกษตรอินทรี บ้านพุน้ำทิพย์ ต.หนองแขม อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี

ผลผลิตจากเกษตรอินทรีกำลังได้รับความนิยมและเป็นที่ต้องการของคนรักสุขภาพอย่างยิ่ง โดยหนึ่งในแหล่งผลิตสวนเกษตรอินทรี ชื่อว่า “ไร่ทนเหนื่อย” บนที่ราบเชิงเขาของ อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ปัจจุบันมีผลผลิตทั้งพืชผักและผลไม้นานาชนิดออกสู่ตลาด อีกทั้งส่งขายไปยังสถานที่ต่างๆ รวมถึงยังส่งออกไปขายยังต่างประเทศ สร้างมูลค่าได้มากมาย คือบทพิสูจน์ว่า เจ้าของกิจการแห่งนี้ ทุ่มเทกายใจเพื่อผลผลิตสมการขนามนามพื้นที่เกษตรกรรม 64 ไร่

“ไร่ ทนเหนื่อย” นั้น เจ้าของไร่เป็นสุภาพสตรีชื่อ สมหมาย หนูแดง อายุ 71 ปี เกิดที่ ต.บ้านกล้วย อ.บ้านหมี่ จ.ลพบุรี สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก ม.เกษตรศาสตร์ คณะศึกษาศาสตร์ (คหกรรม) โดยหลังจบจากรั้วนนทรีได้รับราชการครู ในตำแหน่งศึกษานิเทศก์ของการศึกษานอกโรงเรียนที่กรุงเทพฯ ช่วงที่ทำงานก็ศึกษาเรียนรู้เรื่องสารพิษตกค้างในอาหารอย่างจริงจัง และยังไม่ทันที่จะเกษียณอายุราชการ ในปี 2537 ก็ได้ลาออกเพราะเริ่มเบื่อชีวิตในเมืองหลวงและมุ่งหน้ากลับมาใช้ชีวิตที่บ้านเกิด โดยหวังนำความรู้เรื่องสารพิษตกค้างด้านการเกษตรมาใช้เพื่อเป็นประโยชน์ต่อสังคม

“ป้าสนใจเรื่องผักปลอดสารพิษ ตั้งแต่ปี 2535 และหลังลาออกก็กลับมาที่บ้านเกิด ซึ่งครอบครัวมีที่ไร่ตั้งอยู่บ้านพุน้ำทิพย์ ต.หนองแขม อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี ห่างจากกรุงเทพ 200 กม. มีเนื้อที่ 64 ไร่ เป็นที่ที่ตกทอดมาและก็มาปักหลักที่นี่กว่า 20 ปีแล้ว”

             ป้าสมหมายประกอบอาชีพเกษตรกรเต็มขั้น ปลูกทั้งผลไม้และพืชผักทั่วไปตามที่ได้ศึกษาค้นคว้ามา แต่ผลผลิตกลับไม่ตรงเป้าและไม่ได้ตามที่คิด จึงขาดทุนเกือบหมดตัว…จากความล้มเหลวที่เกิดขึ้น สอนให้ป้าสมหมายแข็งแกร่งขึ้นและกลับมาค้นหาสิ่งที่ผิดพลาด โดยนับหนึ่งใหม่และก้าวต่อไปด้วยพลังที่มั่นคง ซึ่งเมื่อรู้ปัญหาแล้วก็เดินหน้าแก้ไข และหวังว่าวันข้างหน้าต้องดีขึ้นกว่าเดิม

            

“ช่วงนั้นก็ค้นหาความรู้หนักขึ้น ซึ่งเข้าใจว่าปัญหาใหญ่มาจากดินที่ ขาดความสมบูรณ์ จึงได้บำรุงดิน หันมาใช้ปุ๋ยพืชสดแทนปุ๋ยคอก เนื่องจากในความเป็นจริง ปุ๋ยพืชสดนั้นมีธาตุอาหารสูง ดังนั้นพืชผักก็จะเจริญเติบโตดี ส่วนปุ๋ยคอกที่เคยใช้อยู่ ธาตุอาหารมีน้อย และราคาก็สูง เมื่อเป็นเช่นนั้น จึงหันมาใช้ ปุ๋ยพืชสดแทนทั้งหมด”

             หลังจากใช้ปุ๋ยพืชสดแล้วปรากฏว่าทุกอย่างออกมาดีทั้งผลไม้และ แปลงผักสวนครัวต่างๆ เจริญเติบโต อาทิ ผักชี, คะน้า, กวางตุ้ง, ผักกาดขาว, ผักบุ้ง, กะหล่ำปลี, กะหล่ำดอก, บล็อกโคลี, ผักกาดหอม และผักจากต่างประเทศนานาชนิด เพราะทางไร่หันมาใช้ระบบเกษตรอินทรีเต็มรูปแบบ ซึ่งความหมายของเกษตรอินทรีก็คือไม่ใช่ปุ๋ยเคมี สารเคมีในการกำจัดแมลง ใช้สมุนไพรกำจัดแมลงได้ แต่ที่ไร่นี้ นอกจากไม่ใช้ปุ๋ยเคมีแล้วยังไม่ใช้สมุนไพร โดยป้าบอกว่าสมุนไพรเป็นของเหม็น ของขม ของขื่น ของเมา ใช้แล้วรสชาติจะไม่เป็นธรรมชาติ ไม่เป็นไปตามสายพันธุ์

             “ผลผลิตจากไร่ทนเหนื่อยได้รับการรับรองมาตรฐานจากกรมวิชาการเกษตร ไม่ใช้สารเคมีและสมุนไพร ผลผลิตที่ออกมาจึงมีความอุดมสมบูรณ์ ต้นใบผัก สด และหวานกรอบ เพราะมีธาตุอาหารสูง เป็นไปตามห่วงโซ่อาหาร ซึ่งเมล็ดพันธุ์นั้น มาจากการซื้อจากบริษัทที่เชื่อถือได้ บวกกับเมล็ดพันธุ์ของเราเองส่วนหนึ่ง”

             สำหรับการส่งออกนั้น ป้าสมหมาย เล่าว่า มีทั้งขายในฟาร์ม (คนมาซื้อที่ไร่), ตลาดท้องถิ่น ในเขต จ.ลพบุรี และส่งไปขายตามห้างร้านทั่วไป (มีคนรับไปขาย) รวมถึงยังส่งออกไปขายในต่างประเทศ เช่น สิงคโปร์ และประเทศในแถบยุโรป นอกจากนี้ยังได้เปิดร้านเอง ที่ อ.เมือง จ.ลพบุรี ชื่อร้านไร่ทนเหนื่อย ออแกนิก คาเฟ่ ให้ลูกชายดูแล ซึ่งได้รับการตอบรับดีมาก เพราะนำพืชผักผลไม้จากไร่ ไปประยุกต์ แปรรูปใหม่ ให้เข้ากับธุรกิจของคนรุ่นใหม่ มีทั้งกาแฟ, เค้ก, สลัดผัก, ข้าวโพดต้ม ฯลฯ ซึ่งจะปรับเมนูไปเรื่อยๆ ซึ่งร้านนี้เปิดทุกวันเวลา 08.00-20.00 น.

            

ตลอด 20 กว่าปี ไร่ทนเหนื่อยสร้างชื่อให้แก่ครอบครัวของป้าสมหมาย หลังทนเหนื่อยพลิกผืนดินให้เป็นทองคำ จนป้าสมหมายได้รับรางวัลเกียรติยศ มากมายจากหลายองค์กร เป็นเครื่องการันตี อาทิ แม่ดีเด่นส่วนกลาง ผู้ประกอบอาชีพเกษตร, ผู้นำอาชีพก้าวหน้า จากกระทรวงมหาดไทย, ครูภูมิปัญญาไทย จากสำนักนายกสภาการศึกษาแห่งชาติ, ผู้พัฒนาดินบนพื้นที่ดอนดีเด่น, ผู้ชนะเลิศเกษตรกรดีเด่น สาขาเกษตรอินทรี จัดโดยกระทรวงเกษตรและสหกรณ์, เกษตรกรดีเด่น ด้านการปลูกพืชอินทรี จากกรมวิชาการเกษตร, ปราชญ์เกษตร 72 ปีของ ม.เกษตรศาสตร์

             “ตอนนี้ทุกอย่างที่ไร่ลงตัวมาก ทั้งผลผลิตและการตลาด ลูกชายก็เข้ามาสานต่อ และยังมีหลานอีก 2 คน กำลังเรียนที่ ม.เกษตรศาสตร์ ซึ่งหลังจากจบแล้ว ก็ต้องมาช่วยกันอีกแรง นอกจากนนี้ที่ไร่ยังเปิดให้ผู้ที่ต้องการเรียนรู้เรื่องเกษตรอินทรีเข้ามาชมและลงพื้นที่ จริง โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จะมาเป็นกลุ่มก็ได้ ไม่เกิน 20 คน เพราะถ้ามากกว่านั้น เกรงว่าจะดูแลไม่ทั่วถึง และไม่ได้ความรู้กลับไป ที่ผ่านมามีมาจากทั่วประเทศ ทุกคนมาก็ชื่นชอบ และได้ความรู้กลับไป แก้ปัญหาได้ตรงจุด เราก็ดีใจ”

            

ป้าสมหมาย กล่าวว่า เวลานี้เกษตรกรของ อ.โคกสำโรง ทั้ง 13 ตำบล ส่วนมากจะเน้นไปเรื่องการปลูกพืชไร่ เป็นหลัก ทั้งมันสำปะหลัง, ข้าวโพด ซึ่งก็ยังไม่เข้าใจเหมือนกันว่า ทำไมไม่ปรับเปลี่ยนบ้าง โดยหันมาปลูกผลไม้อื่นๆ เช่น ขนุน, น้อยหน่า, ส้ม, ลำไย, เงาะ, ทุเรียน ประเภทนี้ที่มูลค่าราคาตลาดจะสูงกว่า เนื่องจากเรื่องของดินในเขต อ.โคกสำโรง เป็นดินหินภูเขาไฟ มีธาตุ โปรแตสเซียม, ฟอสฟอรัส สูง ถือเป็นดินดี (สำรวจโดยกองเกษตรเคมี กรมวิชาการเกษตร) สามารถปลูกผลไม้แบบนี้ได้สบาย ลองนึกดูในอดีต เมื่อนึกถึงลพบุรี หลายคนจะรู้กันว่าเป็นเมืองผลไม้ดังเช่น มะม่วง, น้อยหน่า, ละมุด ซึ่งมีรสชาติไม่แพ้ที่ใด

             ท้ายที่สุด เจ้าของไร่ทนเหนื่อย กล่าวว่า ทุกวันนี้ได้น้อมนำแนวทางปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียงของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว มาใช้ในการดำเนินชีวิต ทำให้มีความสุขมาก อีกทั้งยังได้อยู่กับธรรมชาติ โดยที่ไร่นั้น มีความอุดมสมบูรณ์ มีระบบนิเวศที่ดี อากาศดีมาก ตอนนี้ยังมีสัตว์ป่า อาทิ นกนานาชนิด, กระต่ายป่า, กระต่ายบ้าน, หิ่งห้อย อาศัยอยู่ในไร่ เป็นจำนวนมาก และในอนาคตจะสร้างที่พักเพื่อรองรับประชาชนทั่วไปที่จะเข้ามาท่องเที่ยว เชิงอนุรักษ์ และสร้างให้เป็นแหล่งท่องเที่ยวใหม่ของ อ.โคกสำโรง ที่จะเน้นในเรื่องอาหารสุขภาพ สามารถสอบถามได้ที่หมายเลข 09-0435-8768

ความหมาย : ไร่ทนเหนื่อย

             ไร่ทนเหนื่อย มาจากไหน มีคนถามเป็นจำนวนมาก แรกๆ เลย ใช้ชื่ออื่น แต่มาเปลี่ยนชื่อเป็น ไร่ทนเหนื่อย ซึ่งมาจากที่เกือบทุกวัน ป้าจะอุ้มหลานชายจากที่พักและเดินไปทำงานรอบๆ บริเวณไร่ มีอยู่วันหนึ่งหลานชายวัยเพียง 3 ขวบ ได้ถามว่า “ย่าเหนื่อยไหม” และถามเป็นประจำ จึงได้ตอบไปว่า “เหนื่อยแต่ต้องทน” จึงมีความคิดว่า คำคำนี้ดูดีมีความหมาย จึงนำไปตั้งเป็นชื่อไร่ใหม่ว่า ไร่ทนเหนื่อย ตั้งแต่นั้นมา เป็นเวลา 17 ปีแล้ว รู้สึกชอบชื่อนี้มาก มีความหมาย จดจำง่าย และมีความเป็นลูกทุ่งดี

เครดิตที่มา : คมชัดลึก วันที่ 6 ต.ค. 2558


กลุ่มขนมกระยาสารท บ้านหนองจับเขียด ม.11 ต.หนองแขม อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี

รายละเอียดผลิตภัณฑ์  : ส่วนผสมของข้าวเม่าที่พองกรอบอร่อย ข้าวตอกดอกโต ถั่วลิสงและงาคั่วสุกหอมกรุ่น คลุกเคล้าด้วยน้ำตาลอ้อยแท้กลิ่นหอมละมุนและกะทิสด กวนจนเหนียวข้นพอเหมาะ ทำให้ได้กระยาสารทที่กรอบนุ่ม หอม อร่อย หวาน มัน เหมาะเป็นอาหารว่างในทุกโอกาส ไม่ใส่สีและสารกันบูด 

ของดีตำบลหนองแขม

กระยาสารท

บ้านหนองจับเขียดต.หนองแขม อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี

41379


กลุ่มพวงหรีดดอกไม้จันทน์ บ้านใหม่พัฒนา ม.2 ต.หนองแขม อ.โคกสำโรง จ.ลพบุรี

เริ่มจาก มีการจัดตั้งกลุ่ม แล้วจัดซื้ออุปกรณ์การดำเนินงาน และจ้างผู้ฝึกสอนจาก กศน.มาฝึกสอนการประดิษฐ์ดอกไม้จันทน์และพวงหรีด โดยมีสมาชิก กลุ่มฯ มาเบิกอุปกรณ์ไปประดิษฐ์แล้วนำผลิตภัณฑ์มาจำหน่ายที่กลุ่มแล้วแบ่งผลกำไร เป็นการบริหารแบบเงินทุนหมุนเวียน